เรื่องของการระบายความร้อน
เรื่องของการระบายความร้อนเชื่อว่าหลายคนเองก็พอจะทราบกันอยู่แล้วว่า ระบบการระบายความร้อนในรถมอเตอร์ไซค์มีอยู่ 3 แบบหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบายความร้อนแบบให้อากาศไหลผ่าน การระบายความร้อนด้วยหม้อน้ำ และการระบายความร้อนแบบออยล์คูลเลอร์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเครื่องยนต์มีการใช้งานเป็นเวลานานๆ ย่อมเกิดความร้อนสะสมภายในห้องเครื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้นระบบการระบายความร้อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะเป็นตัวช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่เกิดการสะสมของความร้อนจนเครื่องยนต์ไปต่อไม่ได้ เมื่อถึงขั้นนั้นจะเป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์มากอาจจะถึงขั้นฝาสูบโก่งได้
ประเภทของระบบระบายความร้อน
ระบบการระบายความร้อนในรถแต่ละประเภทก็มีความเหมาะสมแตกต่างกัน รวมถึงภูมิอากาศในแต่ละประเทศก็มีผลต่อการระบายความร้อน อย่างเมืองไทยเองถ้าเป็นระบบระบายความร้อนด้วยอากาศนั้นก็มักจะถูกใช้กับเครื่องยนต์บล็อกเล็กๆ เป็นหลัก ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 125-230 ซีซี ทั้งนี้ก็เพราะว่าเครื่องเล็กๆ ความร้อนสะสมมีน้อยกว่า การใช้รอบเครื่องยนต์ไม่สูงมากนัก บวกกับพื้นที่ในการติดตั้งหม้อน้ำนั้นก็ไม่ค่อยมี ดูแลรักษาก็ง่ายกว่า

ถ้าหากเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาด 150 ซีซี (บางรุ่นก็จะยังเป็นการระบายความร้อนด้วยอากาศ) ขึ้นไปส่วนมากก็จะใช้ระบบการระบายความร้อนด้วยน้ำ สาเหตุที่ใช้น้ำเข้ามาช่วยการระบายความร้อนนั้นก็เพราะว่าต้องการให้เครื่องยนต์มีการระบายความร้อนได้อย่างเต็มที่ และส่วนมากผู้ที่ขี่รถในซีซีที่สูง ก็จะมีความชำนาญและใช้รอบเครื่องสูงอยู่บ่อยๆ
และการระบายความร้อนอีกแบบหนึ่งที่คุ้นหูกันอยู่บ่อยๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยมากเท่ากับระบบหม้อน้ำมากนัก นั่นก็คือการระบายความร้อนด้วยออยล์คูลเลอร์

ซึ่งจริงๆ แล้วระบบการระบายความร้อนทั้งแบบหม้อน้ำและระบบออยล์คูลเลอร์นั้น ถึงจะเป็นการระบายความร้อนเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการระบายความร้อนที่แตกต่างกัน(ดูงงๆ ไหมครับ) โดยการระบายความร้อนแบบหม้อน้ำนั้นจะเป็นการให้น้ำที่ผสมน้ำยาหล่อเย็นเข้าไปช่วยเพิ่มจุดเดือดและช่วยลดตะกอนที่เกิดจากน้ำและความร้อน น้ำที่ไหลจากเครื่องยนต์จะถูกส่งไปยังแผงหม้อน้ำหลังจากนั้นก็จะถูกส่งไปที่เครื่องยนต์อีกครั้งแต่จะไม่ได้เข้าไปในเครื่องยนต์นะครับ บางรุ่นจะมีพัดลมช่วยในกรณีที่จอดนานๆ แล้วอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 90องศา พัดลมก็จะเริ่มทำงานครับ
เช่นเดียวกับการระบายความร้อนแบบอากาศจะใช้อากาศเข้าไปเป็นตัวระบายความร้อนโดยตรงกับตัวเครื่องยนต์ เสื้อสูบบางรุ่นจะมีการทำให้เป็นครีบเพื่อให้ความร้อนไหลผ่านออกมาตามครีบแล้วให้อากาศนั้นเป็นตัวช่วยระบายความร้อน
ส่วนการระบายความร้อนด้วยออยล์คูลเลอร์นั้น จะมีความแตกต่างจาก 2 ระบบที่กล่าวมาแล้วก็คือ ออยล์คูลเลอร์จะเป็นการระบายความร้อนให้กับน้ำมันเครื่องเป็นหลัก นั่นหมายถึงระบบของออยล์คูลเลอร์จะไปทำให้อุณหภูมิของน้ำมันเครื่องนั้นมีความคงที่ เมื่อน้ำมันเครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไปแล้วก็จะเป็นการยืดอายุการใช้งานให้กับน้ำมันเครื่องได้เช่นกัน แต่จะไม่ค่อยมีผลต่อการเข้าไประบายความร้อนให้กับตัวเครื่องยนต์สักเท่าไหร่ โดยระบบการทำงานก็จะคล้ายกับแบบหม้อน้ำ ซึ่งจะมีวิธีการระบายความร้อนผ่านแผงรังผึ้งนั่นเอง
บางรุ่นมี 2 ระบบ
ในรถบางรุ่นก็ใช้ระบบการระบายความร้อนถึง 2 แบบเลยก็มี แต่ส่วนมากก็จะเป็นในเครื่องยนต์บล็อกขนาด 1000 ซีซี เพราะในรถขนาดนี้จะมีการใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูง ดังนั้นเครื่องยนต์ก็ต้องการระบายความร้อนที่เร็วที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด อย่างเช่น Ninja ZX-10R ปี 2021 ที่มีการเพิ่มเติมในส่วนของออยล์คูลเลอร์เข้ามา ถือว่าเป็นระบบการระบายความร้อนที่สมบูรณ์แบบมาก

ระบบระบายความร้อน
ระบบระบายความร้อนของ Kawasaki Ninja ZX-10R ปี 2021 ที่เพิ่งเปิดดตัวใหม่นี้ มี 2 ระบบได้แก่ การระบายความร้อนแบบหม้อน้ำ และ การระบายความร้อนด้วยออยคูลเลอร์
แต่ถ้าหากจะถามว่าแล้วการระบายความแบบไหนดีที่สุด ก็ต้องบอกเลยว่าการระบายความร้อนด้วยน้ำจะได้เปรียบมากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่รถติดนั้นน้ำจะช่วยให้การระบายความร้อนกับเครื่องยนต์ได้ดีที่สุด
แต่ว่าก็มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งก็คือ น้ำจะมีจุดเดือดที่ไม่สูงเท่ากับการระบายความร้อนแบบน้ำมันเครื่องหรือออยล์คูลเลอร์ และหากเกิดความเสียหายจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศ
เดี๋ยวนี้รถที่ระบายความร้อนด้วยน้ำก็เลยมีการพัฒนาให้หม้อน้ำนั้นมีพัดลมเข้ามาช่วยให้อากาศสามารถไหลผ่านไปลดอุณหภูมิของน้ำเพื่อที่จะไปลดอุณหภูมิเครื่องยนต์อีกต่อหนึ่งด้วย ตัวพัดลมก็จะมีการทำงานตามที่ได้ตั้งค่าเอาไว้ด้วยนั่นเอง
ส่วนแบบออยล์คูลเลอร์ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่การระบายความร้อนให้กับน้ำมันเครื่องยนต์ แต่ก็มีจุดเดือดที่สูงกว่าน้ำ ดังนั้นที่ตัวรังผึ้งก็อาจจะไม่ต้องติดพัดลมเหมือนกับหม้อน้ำก็ได้
นี่ก็เป็นความแตกต่างของการระบายอากาศของทั้ง 2 แบบ ที่เอามาให้ดูกัน และเป็นความเหมือนที่แตกต่าง แต่ก็ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้มีประสิทธิภาพทั้ง 2 แบบด้วยนั่นเอง